สถาบันรับรองระบบการผลิตผลิตภัณฑ์การเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
Institute of Certified Agricultural Production System (ICAPS)
ปัจจุบันงานมาตรฐานและการตรวจรับรองมาตรฐาน มีความสำคัญต่อระบบการผลิตสินค้าเกษตรของไทยเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการผลิตพืชผัก ผลไม้ สินค้าจำพวกสัตว์น้ำ รวมไปถึงสินค้าปศุสัตว์ ภาครัฐกำหนดให้เกษตรกรหรือผู้ผลิต และผู้ประกอบการควรนำมาตรฐานที่เกี่ยวกับการผลิตและการแปรรูปไปใช้ เช่น มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีหรือ GAP มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น ไปใช้ในการกำหนดวิธีวิธีปฏิบัติของเกษตรกรหรือผู้ผลิตแต่ละราย ส่วนมาตรฐานการแปรรูปอันได้แก่ GMP หรือ Good Manufacturing Practices นั้น เป็นมาตรฐานบังคับที่สำคัญของสินค้าเกษตรและอาหารหลายผลิตภัณฑ์ทั้งนี้มีจุดประสงค์ให้ทั้งผู้ผลิตและผู้ประกอบการได้พัฒนาระบบการผลิตและการแปรรูปของตนเอง เป็นการสร้างคุณภาพให้แก่ตัวสินค้าเกษตร และยังสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศด้วย ในฐานะที่ไทยเป็นครัวของโลก จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของมาตรฐานการผลิตและรับรองคุณภาพสินค้าเกษตรดังกล่าว โดยมีการกำหนดวิสัยทัศน์ให้ “เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีความเป็นเลิศทางการเกษตรในระดับนานาชาติ” และสภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติจัดตั้ง “สถาบันรับรองระบบการผลิตผลิตภัณฑ์การเกษตร” ขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554 โดยเป็นหน่วยงานวิสาหกิจในกำกับของมหาวิทยาลัย ที่มีภารกิจด้านการตรวจรับรองระบบการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
สถาบันรับรองระบบการผลิตผลิตภัณฑ์การเกษตรที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นนี้ เป็นองค์กรตรวจรับรองหรือที่เรียกว่า Certification Body : CB ที่มีระบบการบริหารและดำเนินงานตามมาตรฐานสากล ISO/IEC Guide 65 ซึ่งเป็นมาตรฐานของหน่วย CB ที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก โดย CB ที่ปฏิบัติตามมาตรฐานนี้จะมีขั้นตอนการปฏิบัติให้เกิดความเป็นกลาง มีความโปร่งใสในการตรวจรับรองซึ่งสามารถตรวจสอบได้ และมีระบบการตรวจรับรองเป็นไปตามหลักวิชาการที่น่าเชื่อถือ รวมถึงมีระบบการกำกับดูแล CB ที่ได้รับการรับรองความสามารถเหล่านี้โดยหน่วยรับรองระบบงาน (Accreditation Body : AB) ของแต่ละประเทศที่มีการทำข้อตกลงกันไว้
สำหรับสถาบันรับรองระบบการผลิตผลิตภัณฑ์การเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ก็เช่นกัน เป็นสถาบันฯ ที่พร้อมยื่นเรื่องไปยังหน่วย AB ของประเทศไทยคือ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ดำเนินการตรวจประเมินรับรองความสามารถตามมาตรฐาน ISO/IEC Guide 65 โดยหลังจากผ่านการตรวจประเมินแล้วจะได้รับการขึ้นทะเบียนตามระบบการรับรอง ซึ่ง มกอช. จะดำเนินการประกาศทะเบียน CB ที่ได้รับการรับรองแล้วให้สาธารณชนและหน่วยงาน AB ที่เป็นเครือข่ายของประเทศต่างๆ ทราบ โดยผู้บริหารมหาวิทยาลัยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสถาบันรับรองระบบการผลิตผลิตภัณฑ์การเกษตร จะเป็นหน่วยงานที่ตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัย และสร้างความเข้มแข็งทางด้านมาตรฐานการผลิตภาคเกษตรให้แก่สังคม รวมถึงเป็นหน่วยงานที่เผยแพร่องค์ความรู้ด้านมาตรฐานการเกษตรให้แก่สาธารณชน
ที่ผ่านมา ทางสถาบัน ICAPS ได้ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ และทรัพยากรของหน่วยงาน เพื่อให้ผ่านการรับรองความสามารถในการเป็นหน่วยตรวจรับรองตามมาตรฐาน ISO/IEC Guide 65 จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2557 ทางสถาบัน ICAPS ได้ผ่านการรับรองความสามารถในฐานะหน่วยรับรอง ขอบข่ายการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ด้านพืช (พืชอาหารและข้าว) และขอบข่ายเกษตรอินทรีย์ (Organic) ด้านพืช (การผลิตพืชอินทรีย์ครอบคลุมถึงการผลิต การจัดการฟาร์ม และการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และข้าวอินทรีย์) จากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับรองในขอบข่ายเกษตรอินทรีย์ (Organic) ที่ทางสถาบัน ICAPS เป็นองค์กรเดียวในประเทศไทยที่ผ่านการรับรองระบบงานจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ตามมาตรฐาน ISO/IEC Guide 65 (http://www.acfs.go.th/cb.php) นับเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นการส่งเสริมด้านการเกษตรของประเทศไทย และพร้อมรับผ่องถ่ายภารกิจงานด้านตรวจประเมินแหล่งผลิตทั้ง GAP และ Organic จากหน่วยงานภาครัฐตามโครงการความปลอดภัยอาหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานอื่นๆต่อไป
ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ทางสถาบันฯ ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงนโยบาย จากการเป็นหน่วยตรวจ (Inspection Body : IB) มาเป็นหน่วยรับรอง (Certification Body : CB) เพื่อรองรับนโยบายการถ่ายโอนภารกิจการตรวจประเมินจากหน่วยงานราชการ อาทิเช่น กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง ซึ่งสถาบันฯ ได้รับการรับรองความสามารถในฐานะหน่วยตรวจ (Inspection Body : IB) ตามมาตรฐาน ISO/IEC 17020:2012 ขอบข่ายการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ขอบข่ายย่อยด้านพืช (ข้าว) เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2558 และเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2559 สถาบันฯ ได้รับการรับรองความสามารถในฐานะหน่วยตรวจ (Inspection Body:IB) ตามมาตรฐาน ISO/IEC 17020:2012 ขอบข่ายการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ขอบข่ายย่อยด้านพืช (ข้าว พืชอาหาร กระเจี๊ยบเขียว พริก ข้าวโพดฝักอ่อน ข้าวโพดหวาน ลำไย และข้าวหอมมะลิ) และปัจจุบันทางสถาบันฯได้ขยายขอบข่ายการตรวจประเมินในฐานะหน่วยตรวจ (Inspection Body : IB) ตามมาตรฐาน ISO/IEC 17020:2012 และทางสถาบันฯ ได้ยื่นขอขยายขอบข่ายการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ขอบข่ายการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ขอบข่ายย่อยด้านพืช (ข้าว ข้าวหอมมะลิไทย พืชอาหาร กระเจี๊ยบเขียว พริก ข้าวโพดฝักอ่อน ข้าวโพดหวาน ลำไย มันสำปะหลัง สับปะรด ข้าวโพดเมล็ดแห้ง กาแฟ ใบชาสด กล้วยไม้ตัดดอก มะพร้าวน้ำหอม ขิง ถั่วลิสง ถั่วเมล็ดแห้ง อ้อยโรงงาน หน่อไม้ฝรั่ง และพืชสมุนไพร) ขอบข่ายผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร (PRODUCT) (มาตรฐานเมล็ดถั่วลิสง : ข้อกำหนดปริมาณอะฟลาทอกซิน) เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2560 และยังได้รับการรับรองในฐานะหน่วยรับรอง (Certification Body : CB) ตามมาตรฐาน ISO/IEC 17065:2012 ดังนี้ ขอบข่ายการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) (ข้าว ข้าวหอมมะลิไทย พืชอาหาร กระเจี๊ยบเขียว พริก ข้าวโพดฝักอ่อน ข้าวโพดหวาน ลำไย มันสำปะหลัง สับปะรด ข้าวโพดเมล็ดแห้ง กาแฟ ใบชาสด กล้วยไม้ตัดดอก มะพร้าวน้ำหอม ขิง ถั่วลิสง ถั่วเมล็ดแห้ง อ้อยโรงงาน หน่อไม้ฝรั่ง และพืชสมุนไพร) ขอบข่ายด้านเกษตรอินทรีย์ ด้านพืช (พืชอินทรีย์และข้าวอินทรีย์) ขอบข่ายผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร (PRODUCT) (มาตรฐานเมล็ดถั่วลิสง : ข้อกำหนดปริมาณอะฟลาทอกซิน)