สถาบันรับรองระบบการผลิตผลิตภัณฑ์การเกษตร
Institute of Certified Agricultural Production System (ICAPS)
สถาบันรับรองระบบการผลิตผลิตภัณฑ์การเกษตร รับมอบใบรับรองความสามารถของการเป็นหน่วยตรวจประเมิน (Inspection Body : IB) ตามระบบมาตรฐาน ISO/IEC 17020:2012 และร่วมลงนามความร่วมมือการพัฒนาระบบการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานการผลิตข้าว
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2558 ณ ห้องวายุภักษ์ 6 โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซนเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร สถาบันรับรองระบบการผลิตผลิตภัณฑ์การเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จำเนียร ยศราช อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมด้วยรองศาสตราจารย์เพ็ญรัตน์ หงษ์วิทยากร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พาวิน มะโนชัย รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรผกา อรรคนิตย์ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองระบบการผลิตผลิตภัณฑ์การเกษตร และนางสาวกนกวรรณ เนียมทรัพย์ นักวิชาการเกษตร ได้เข้าร่วมงานประชาสัมพันธ์ระบบการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าว ที่ทางกรมการข้าวได้จัดขึ้น ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.อภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานในพิธีเปิดงานในงานดังกล่าว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จำเนียร ยศราช ได้เข้ารับมอบใบรับรองความสามารถของการเป็นหน่วยตรวจประเมิน (Inspection Body: IB) ตามระบบมาตรฐาน ISO/IEC 17020:2012 ขอบข่ายการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ด้านพืช (ข้าว) จากนายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช) และร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาระบบการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานการผลิตข้าว ร่วมกับ กรมการข้าว สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยนเรศวร ในการร่วมพัฒนาระบบการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานการผลิตข้าว พัฒนาระบบฐานข้อมูล และแลกเปลี่ยนข้อมูล ตลอดจนความร่วมมือทางวิชาการร่วมกัน
8 กันยายน 2558     |      38464
สถาบันรับรองระบบการผลิตผลิตภัณฑ์การเกษตร ได้รับการรับรองความสามารถในฐานะหน่วยตรวจ (Inspection Body) ตามมาตรฐาน ISO/IEC 17020:2012 จากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช) ในขอบข่ายการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ด้านพืช (ข้าว) เป็นแห่งแรกของประเทศไทย
สถาบันรับรองระบบการผลิตผลิตภัณฑ์การเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รับการรับรองความสามารถในฐานะหน่วยตรวจ (Inspection Body) ตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17020:2012 จากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช) ในขอบข่ายการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ด้านพืช (ข้าว) เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2558 เป็นแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ หรือหน่วยงานราชการ ที่มีความสนใจในการตรวจประเมินในขอบข่ายการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี ด้านพืช สามารถเชื่อมั่นและไว้วางใจในระบบการดำเนินการตรวจประเมินตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17020:2012 ของทางสถาบันฯสำหรับภารกิจการตรวจประเมินของสถาบันฯ ครอบคลุมถึงการตรวจประเมินไม้ผล เช่น ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง พุทรา ส้มเขียวหวาน, พืชไร่ เช่น ข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วลิสง งา และพืชสวน เช่น พริก กะหล่ำ ถั่วฝักยาว ผักสลัด เป็นต้น ตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (มกษ.)ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอรับการตรวจประเมินได้ที่ สถาบันรับรองระบบการผลิตผลิตภัณฑ์การเกษตร อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 63 ม.4 ต.หนองหาร อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ 50290 โทร/แฟกซ์ 053-873820, 086-6571845
2 กรกฎาคม 2559     |      2662
ความแตกต่างระหว่างเครื่องหมาย "Organic Thailand" และ "Q Organic"
หลายท่านคงสงสัยกันว่าเครื่องหมาย "Organic Thailand" และ "Q" ที่ใช้ในการรับรองผลิตภัณฑ์อินทรีย์ ต่างกันอย่างไรเครื่องหมายรับรอง "Organic Thailand" เป็นเครื่องหมายรับรองปัจจัยการผลิต แหล่งการผลิต หรือผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ที่ได้รับการรับรองจาก กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมปศุสัตว์ และกรมประมง ซึ่งเป็นหน่วยตรวจรับรอง (Certification Body : CB) อันเป็นเครื่องหมายรับรอง "เฉพาะหน่วยงาน" เหมือนกับเครื่องหมายรับรอง "ICAPS" ที่ออกให้เฉพาะสถาบันรับรองระบบการผลิตผลิตภัณฑ์การเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้เท่านั้นในส่วนของเครื่องหมายรับรอง "Q" ที่มีหมายเลขผู้ได้รับการรับรองระบุว่าเป็น "ORGANIC" นั้น เป็นเครื่องหมายรับรองที่สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ออกให้กับหน่วยตรวจรับรอง (Certification Body : CB) ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC Guide 65 หรือ ISO/IEC 17065 แล้วเท่านั้น หน่วยรับรองที่ยังไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานดังกล่าว ไม่สามารถ ใช้เครื่องหมาย "Q" นี้ได้ (ยกเว้นหน่วยตรวจรับรองที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย เช่น กรมต่างๆ) ซึ่งหน่วยงานฯ ต้องผ่านการขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 (แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556) เสียก่อน จึงจะสามารถใช้เครื่องหมายรับรอง "Q Organic" ได้จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ทำให้เราทราบได้ว่า เครื่องหมาย "Organic Thailand" และ "Q Organic" แท้จริงแล้วไม่ได้มีความแตกต่างกันในเรื่อง ระดับของมาตรฐาน หรือ ความแตกต่างกันของข้อกำหนดในมาตรฐาน แต่อย่างใด ต่างกันแต่เพียง ความแพร่หลายในการใช้งาน"เท่านั้น" ศักดิ์ศรี และระดับของมาตรฐาน ล้วนเป็นเครื่องหมายรับรองในระดับสูงสุดของ "ประเทศไทย" เช่นเดียวกัน  
31 มีนาคม 2557     |      22772
ทั้งหมด 9 หน้า